นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน (Anti-corruption Policy)
บริษัท โตโยกซ์ เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด
บริษัท โตโยกซ์ เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม โดยยึดหลักธรรมาภิบาล จริยธรรม และคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย บริษัทได้ประกาศแสดงเจตนารมณ์เป็น “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
เพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทมีนโยบายกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท และเพื่อให้การตัดสินใจ รวมถึงการดำเนินการทางธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชันได้รับการพิจารณาและปฏิบัติอย่างรอบคอบ บริษัทจึงได้จัดทำ “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน” เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาองค์กรสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน
- วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของบริษัทในการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
- เพื่อให้การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันเป็นไปอย่างรัดกุม รอบคอบ และเหมาะสม
- เพื่อสนับสนุนให้มีการเฝ้าระวังและรายงานการพบเห็นการคอร์รัปชันผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสที่กำหนดไว้
- ขอบเขต
นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัท โดยให้ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน บริษัทมุ่งหวังให้ตัวแทนหรือตัวกลางทางธุรกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องหรือกระทำการในนามบริษัท มีแนวทางในการปฏิบัติงานตามนโยบายฉบับนี้ด้วย
- คำนิยามตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
การคอร์รัปชัน หมายถึง การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การนำเสนอ หรือการให้คำมั่นว่าจะให้ การขอ หรือการเรียกร้อง ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบาย ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัท ไม่ว่าในประเทศ หรือต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้ ทั้งต่อบริษัท ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
การให้สินบน หมายถึง การกระทำในรูปแบบใดๆ ที่เป็นการเสนอ การให้สัญญา การมอบให้ การยอมรับ การเรียกร้อง ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้มีการปฏิบัติใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ
การให้ของขวัญ หมายถึง การมอบเงิน บัตรกำนัล สิ่งมีค่า สินค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นการให้โดยตรงหรือเป็นการขายให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานในราคาพิเศษ นอกจากนี้ยังรวมถึงการมอบสิ่งของให้ตามมารยาทที่ปฏิบัติในสังคม หรือภายใต้จารีตประเพณีท้องถิ่น เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด ของขวัญในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น
การเลี้ยงรับรอง หมายถึง การเลี้ยงอาหาร การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติทางธุรกิจ หรือเป็นจารีตการค้า รวมถึงการให้ความเข้ารู้ความเข้าใจทางธุรกิจ
การสนับสนุน หมายถึง การให้เงิน สิ่งมีค่า หรือบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมตราผลิตภัณฑ์หรือชื่อเสียงของบริษัท อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ
การบริจาค หมายถึง การให้เงิน สินค้า ของมีค่า หรือบริการในรูปแบบของการบริจาค เป็นต้น
เจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึง พนักงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ผู้ตรวจสอบภาษี เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานของหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานระหว่างประเทศภาคสาธารณะ ผู้สมัครดำรงตำแหน่งหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คู่ค้า หมายถึง บริษัท ห้างหุ้นส่วน ธุรกิจ บุคคล บุคคลที่สาม หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท
บุคคลที่สาม หมายถึง บุคคลภายนอก บริษัทคู่ค้า หรือเอเย่นต์ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือในการติดต่องานราชการหรือกับคู่ค้า
เอเย่นต์ หมายถึง ตัวแทน บุคคล หรือบริษัท ที่เป็นตัวแทนทางด้านธุรกิจเฉพาะด้านให้กับบริษัท
- นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
- บริษัทไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน โดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด
- กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่ยอมรับการคอร์รัปชันไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จัก ในทุกรูปแบบ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด
- บริษัทจัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
- บริษัทกำหนดได้แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Code of Conduct) เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายนี้ ทั้งนี้ บริษัทจะสอบทานขั้นตอนการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
- บริษัทจะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งการทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน
- ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน
5.1หน้าที่ความรับผิดชอบ- กรรมการบริษัท มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้
- กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้มีระบบสนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ และฝ่ายบริหารได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านการคอร์รัปชันและปลูกฝังจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
- ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้
- ตรวจสอบระบบควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล
- นำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันไปปฏิบัติ โดยกำหนดให้มีระบบและให้การส่งเสริม รวมถึงสนับสนุนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน และสื่อสารไปยังพนักงาน คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับและข้อกำหนดของกฎหมาย
- ตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมต่อความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น และรายงานผลการตรวจสอบต่อกรรมการบริษัท
- คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดขององค์กร ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน
- ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ มีหน้าที่สื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อให้กิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นไปอย่างถูกต้องตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
- ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ และสร้างความเข้าใจให้พนักงานทุกระดับยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเสริมสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
5.2 แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน - กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน และจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันทั้งทางตรงและทางอ้อม
- กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ จะต้องมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการคอร์รัปชัน
- กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท พนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม ให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กำหนดให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่กำหนดไว้
- บริษัทให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงาน ที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการคอร์รัปชัน ตามที่บริษัทกำหนดไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน (Whistle Blowing Policy)
- บริษัทให้ความสำคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ กับคู่ค้า ให้รับทราบถึงนโยบายและร่วมมือในการต่อต้านการคอร์รัปชันผ่านสื่อทั้งภายในและภายนอก เช่น เว็บไซต์ของบริษัท หลักสูตรปฐมนิเทศพนักงาน การสัมมนาและการอบรมของบริษัท เป็นต้น
- พนักงานลงนามรับทราบนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อยืนยันว่าพนักงานทุกคนรับทราบ เข้าใจ และพร้อมจะนำหลักการในนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความเคร่งครัดทั่วทั้งองค์กร
- บริษัทจัดให้มีระเบียบการเบิกจ่ายโดยกำหนดตารางอำนาจอนุมัติ และวงเงินในการอนุมัติ ซึ่งการเบิกจ่ายต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนประกอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม และเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลไม่ได้เป็นไปเพื่อการคอร์รัปชัน และเงินสนับสนุนเพื่อธุรกิจไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชัน
- ผู้ที่กระทำผิดหรือมีส่วนร่วมในการให้สินบน ให้ถือเป็นการกระทำผิดข้อปฏิบัติของบริษัท ซึ่งต้องถูกลงโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทได้กำหนดไว้ และมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ข้อกำหนดในการดำเนินการเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้ครอบคลุมถึงกระบวนการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือกบุคลากร การปฐมนิเทศ การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การเลื่อนตำแหน่งและขึ้นเงินเดือน โดยผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงาน และควบคุมดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด
- ห้ามกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ จ่ายหรือยอมรับการให้สินบนทุกรูปแบบใด ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม โดยครอบคลุมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีการสอบทานปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางการปฏิบัติและข้อกำหนดในการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
- กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับต้องรายงานข้อเท็จจริงเมื่อพบการถูกเรียกรับสินบน หรือมีคนในบริษัทเสนอหรือให้สินบน ต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบรับทราบโดยทันที
- การดำเนินการใดๆ ตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ให้ใช้แนวปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในคู่มือปฏิบัติงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง
- กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องดังต่อไปนี้
- การให้และรับของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และผลประโยชน์อื่นใด บริษัทไม่มีนโยบายในการให้หรือรับทรัพย์สิน หรือของมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ จากลูกค้า คู่ค้า บุคคลที่สาม เอเย่นต์ ซัพพลายเออร์ หน่วยงานภาครัฐ หรือบุคคลใดๆ เพื่อเป็นการชักจูงใจให้กระทำผิดในวิชาชีพ หรือเพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อใช้เป็นหลักประกันหรือเพื่อเร่งการดำเนินการบางอย่างซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทหรือคู่ค้าต้องทำเป็นกิจวัตร หรือต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ยกเว้นของขวัญที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท มอบให้ตามธรรมเนียมและมารยาท เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมตามโอกาส โดยต้องได้รับอนุมัติจากพนักงานที่มีอำนาจสั่งจ่ายเงิน พร้อมหลักฐานเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการดำเนินงานดังกล่าวและต้องสามารถชี้แจงการกระทำต่างๆ ของตนเอง ทั้งต่อภายในและภายนอก
- การบริจาคเพื่อการกุศล สาธารณะประโยชน์ และเงินสนับสนุน ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีหลักฐานที่ชัดเจน สอดคล้องกับขั้นตอนการอนุมัติและการสอบทานตามระเบียบของบริษัท และจัดให้มีขั้นตอนการติดตามอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคเพื่อการกุศลไม่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับการติดสินบนหรือไม่ได้ปฏิบัติเพื่อการคอร์รัปชัน
- การใช้บุคคลที่สามเพื่อติดต่องานกับเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องไม่เป็นการผ่องถ่ายสินบนให้บุคคลที่สาม
- ความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ ห้ามให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิด การดำเนินงานของบริษัทและการติดต่องานกับภาครัฐจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ ห้ามให้หรือรับสินบนในการดำเนินธุรกิจทุกชนิด การดำเนินงานของบริษัทที่ต้องติดต่องานกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- แนวปฏิบัติในการจัดเก็บ การเข้าถึง การรักษา และการสำรองข้อมูลทางการเงิน
เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรายการทางการเงินและการบัญชีจะต้องมีการจัดเก็บเอกสารจริงเรียงเข้าแฟ้มแยกตามประเภทและวันที่ที่เกิดรายการในการบันทึกบัญชีแยกประเภท โดยแฟ้มเก็บเอกสารตัวจริงที่มีระยะเวลาภายในช่วง 1 ปี นับจากวันที่บันทึกรายการจะถูกเก็บที่บริเวณตู้เอกสารของฝ่ายบัญชี ส่วนแฟ้มเอกสารที่มีระยะเวลาเกิน 1 ปี จะถูกจัดเก็บใส่กล่องแยกตามประเภทรายการบัญชีไว้ที่ห้องเก็บเอกสารของบริษัทจะถูกจัดเก็บไว้ที่ห้องเก็บเอกสารฝ่ายบัญชี
- บทลงโทษ
พนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจใดๆ ก็ตาม ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายหรือกระทำความผิดฐานคอร์รัปชันหรือให้สินบน จะถูกลงโทษทางวินัยขั้นรุนแรง รวมถึงถูกไล่ออก หรือยกเลิกสัญญาจ้าง แล้วแต่กรณี และนอกจากนั้น ยังอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดยคณะกรรมการพิจารณาลงโทษของบริษัทจะเป็นผู้พิจารณาบทลงโทษตามความเหมาะสม
- นโยบายการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน (Whistle Blowing Policy)
บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือบุคคลทั่วไป แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน โดยสามารถแจ้งผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
ช่องทางแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน
ทางไปรษณีย์
นายนที อ่อนอิน
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท โตโยกซ์ เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด
122 ถ.รามคำแหง แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10240
อีเมล: natee@toyoxthai.com
มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน
- ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนจะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมจากบริษัท เช่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน หรือเลิกจ้าง หรือทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างผิดปกติวิสัย หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น
- หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนจะต้องดำเนินเรื่องการรายงานอย่างเป็นความลับ โดยจะไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น เพื่อคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน แหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ กรณีที่มีความจำเป็นในขั้นตอนการดำเนินการตามนโยบายนี้ หรือตามที่กฎหมายกำหนด
กระบวนการพิจารณาข้อร้องเรียน
- เมื่อได้รับการแจ้งเบาะแส ฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กลั่นกรอง สืบสวนข้อเท็จจริง
- ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง ฝ่ายบริหารอาจมอบหมายให้ตัวแทนภายในคณะทำงาน แจ้งความคืบหน้าเป็นระยะให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนได้ทราบ
- หากมีการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาได้กระทำการคอร์รัปชันจริง บริษัทจะให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ได้ถูกกล่าวหา
- หากผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดจริง ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อแนวปฏิบัติและจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับการสอบสวนและพิจารณาโทษทางวินัย ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่ได้กำหนดไว้
- การทบทวนนโยบาย
นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน จะมีการทบทวนนโยบายตามความจำเป็นและเหมาะสมทุก 2 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้เป็นปัจจุบัน